เมื่อเด็กโตขึ้นจะเริ่มพูดและทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง รวมถึงสนใจต่อสิ่งเร้ารอบตัวมากขึ้น ซึ่งฟังแล้วก็เป็นเรื่องที่ปกติ แต่ถ้าเด็กเริ่มมีพฤติกรรมที่ซุกซน อยู่นิ่ง ๆ นาน ๆ ไม่ได้ หรือทำอะไรไม่เป็นระบบ อาจเป็นสัญญาณของภาวะสมาธิได้ ทางที่ดีพ่อแม่ควรฝึกให้เด็กมีสมาธิตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะหากปล่อยไว้นาน ๆ จะส่งผลต่อพัฒนาการและบุคลิกของเขาในวัยผู้ใหญ่ได้
Content Highlight
- บรรยากาศในห้องเรียนและวิธีการสอนของคุณครูสามารถส่งผลต่อสมาธิในเด็กได้ รวมถึงสภาพแวดล้อมที่บ้าน หากมีเสียงดังรบกวนเป็นประจำ อาจทำให้ขาดสมาธิได้ง่าย
- สามารถฝึกให้เด็กมีสมาธิได้ง่าย ๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมรอบข้าง, แบ่งงานบ้านให้ลูกทำ, จำกัดเวลาการใช้โทรศัพท์ และนอนหลับให้เพียงพอ เป็นต้น
- การเล่นดนตรีและทำงานศิลปะ หรือการเล่นกีฬาประเภทต่าง ๆ ก็สามารถช่วยฝึกสมาธิได้เช่นกัน
สมาธิในเด็ก มีความสำคัญอย่างไร
สมาธิเป็นสิ่งสำคัญต่อการเรียนรู้ในวัยเรียน เพราะช่วยให้เด็กสามารถโฟกัสกับสิ่งที่คุณครูสอน ไม่วอกแวกง่าย ส่งผลต่อพัฒนาการสมอง เพราะสมาธิทำให้สามารถจดจ่อกับสิ่งที่ตนเองกำลังทำได้ดี ช่วยให้มีความจำดีกว่าเด็กที่ขาดสมาธิ ทำงานหรือการบ้านได้อย่างรอบคอบยิ่งขึ้น
ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เด็กขาดสมาธิได้
บางครั้งการที่เด็กขาดสมาธิอาจไม่ได้เกิดจากภาวะร่างกายหรือจิตใจของเด็กแต่อย่างใด แต่เกิดปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ขาดการโฟกัส จนไม่สามารถอยู่นิ่ง ๆ ได้
- วิธีการสอนไม่น่าสนใจ หลายครั้งรูปแบบการสอนของคุณครูที่เน้นท่องจำเพียงอย่างเดียว ทำให้หลุดโฟกัสได้ง่าย อาจต้องมีแทรกรูปภาพ คลิปวิดีโอ หรือปรับวิธีสอนให้เข้ากับความสนใจของเด็ก จะช่วยให้สมาธิในเด็กดียิ่งขึ้น
- ติดโทรศัพท์มากเกินไป คลิปวิดีโอหรือเกมต่าง ๆ เป็นสิ่งล่อตาล่อใจเด็กได้เป็นอย่างดี การเล่นเกมนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้าเล่นมากเกินไปจนไม่ยอมทำการบ้านก็ถือว่าเป็นผลเสีย ควรปล่อยให้ลูกได้ออกไปทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง
- พ่อแม่ตามใจลูกมากเกินไป เป็นปัจจัยที่ผู้ปกครองหลายคนมองข้าม สาเหตุที่เด็กสมาธิไม่ดีส่วนใหญ่ก็มาจากวิธีการสอนของพ่อแม่เอง ควรฝึกวินัยให้ลูกตั้งแต่เด็ก เช่น เข้านอนตรงเวลา หรือต้องทำการบ้านให้เสร็จก่อน ถึงจะเล่นเกมได้
- สภาพแวดล้อมเสียงดัง พ่อแม่พูดคุยเสียงดังตลอดเวลา เมื่อขาดความเงียบก็ทำให้เด็กไม่สามารถโฟกัสกับสิ่งต่าง ๆ ได้ หรือรอบบ้านเปิดเพลงเสียงดังจนทำให้นอนไม่หลับ เมื่อนอนไม่พอก็จะส่งผลต่อสมาธิของเด็กเช่นกัน

7 วิธีฝึกให้เด็กมีสมาธิ ตั้งใจจดจ่อกับสิ่งต่าง ๆ ลดภาวะสมาธิสั้น
1. เปลี่ยนสภาพแวดล้อมรอบข้าง
ลดสิ่งเร้าที่จะทำให้เด็กขาดสมาธิ เช่น มีห้องสำหรับทำการบ้านหรืออ่านหนังสือ เป็นห้องที่เงียบสงบ มีแสงสว่างเหมาะสม ไม่มีคนเดินเพ่นพ่าน พ่อแม่ก็ไม่ส่งเสียงดังหรือเข้าไปรบกวนขณะที่ลูกกำลังทำกิจกรรม รวมถึงภายในห้องต้องไม่มีโทรทัศน์หรือวัตถุต่าง ๆ ที่อาจทำให้ลูกสนใจมากกว่าสิ่งที่ต้องทำตรงหน้า
2. แบ่งงานบ้านให้ลูกทำ
พ่อแม่อาจเริ่มฝึกให้เด็กมีสมาธิด้วยการแบ่งงานบ้านให้ลูกทำ เช่น จัดของเล่นให้เป็นระเบียบ พับผ้า หรือล้างจาน จะเป็นการสอนให้ลูกรู้จักจดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำและฝึกความรับผิดชอบไปด้วย
3. ใช้อุปกรณ์จับเวลา
ไม่จำเป็นต้องใช้ตลอดเวลา แต่ลองใช้ในเริ่มแรกที่ลองฝึกสมาธิในเด็ก เพื่อให้เขาสามารถทำงานในระยะเวลาที่จำกัด เมื่อลองทำไปเรื่อย ๆ ลูกจะสามารถโฟกัสได้ด้วยตัวเอง และนั่งทำงานจนเสร็จ นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกบริหารเวลาอีกด้วย
4. จำกัดเวลาการใช้โทรศัพท์หรือแท็บเล็ต
อย่างที่เกริ่นไปว่าการติดโทรศัพท์มากเกินไปจะส่งผลต่อสมาธิของเด็กได้ ดังนั้น พ่อแม่ควรฝึกให้เด็กมีสมาธิด้วยการจำกัดเวลา เช่น เล่นติดต่อกันไม่เกิน 2 ชั่วโมง ต้องพักสายตาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง
5. ผ่อนคลายความเครียดเป็นประจำ
พ่อแม่ที่เข้มงวดกับลูกจนเกินไปจะทำให้เขารู้สึกกดดันและสมาธิไม่ดีได้ ควรสอนลูกด้วยความใจเย็นและไม่ดุลูกรุนแรง หากิจกรรมทำร่วมกับลูกอยู่บ่อย ๆ นอกจากนี้อาจสอนลูกนั่งสมาธิ ช่วยให้สมองปลอดโปร่ง สามารถโฟกัสกับสิ่งต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
6. นอนหลับเพียงพอและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
พ่อแม่บางคนอาจไม่รู้ว่าการนอนและอาหารการกินนั้นส่งผลต่อสมาธิในเด็กด้วย สำหรับเด็กปฐมวัยควรนอนอย่างน้อย 9 – 12 ชั่วโมงต่อวันถึงจะเหมาะสมกับวัยของเขา รวมถึงต้องรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะวิตามินและแร่ธาตุ สารอาหารที่ส่งผลต่อสมาธิและการทำงานของสมอง
7. ทำกิจกรรมเสริมพัฒนาการ
เด็กควรได้ออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนในสมอง มีความกระตือรืนร้น และลดอาการอยู่ไม่สุข

ตัวอย่างกิจกรรมฝึกสมาธิสำหรับเด็กปฐมวัย
- จิ๊กซอว์ เกมทายคำศัพท์ เกมจับผิดภาพ เก้าอี้ดนตรี หรือปริศนาต่าง ๆ ให้เด็กได้ตั้งใจคิดวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบ
- ฝึกเล่นเครื่องดนตรีต่าง ๆ เช่น เปียโน กีตาร์ กลอง หรือจะปลุกความคิดสร้างสรรค์ด้วยการวาดรูประบายสี ก็ช่วยฝึกการโฟกัสได้ดีเช่นกัน
- การอ่านหนังสือนิทาน เพราะการจดจ่อกับเรื่องราวจะช่วยให้เด็กอยู่นิ่ง ๆ ได้ด้วยตัวเอง
- การเล่นกีฬาอย่างฟุตบอล วอลเลย์บอล วิ่ง ว่ายน้ำ หรือบาสเกตบอล
สรุป
สมาธิในเด็กเป็นทักษะที่สำคัญต่อการเรียนรู้เป็นอย่างมาก นอกจากการฝึกสมาธิให้ลูกที่บ้านแล้ว สภาพแวดล้อมของโรงเรียนก็สามารถส่งผลต่อการโฟกัสกับการเรียนได้เช่นกัน ถ้ารูปแบบห้องเรียนเป็นลักษณะห้องเรียนขนาดเล็ก ก็จะช่วยให้จดจ่อกับสิ่งที่คุณครูสอนได้ดีกว่า และคุณครูก็สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงอีกด้วย