การอ่านหนังสือเป็นทักษะที่สำคัญต่อมนุษย์ทุกช่วงวัย ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่การอ่านหนังสือเรียนหรือหนังสือวิชาการเท่านั้น แต่รวมไปถึงนิทาน หนังสือภาพ การ์ตูน หรือวรรณกรรม ที่ช่วยเพิ่มอรรถรสและความหลากหลายของเนื้อหา โดยยุคปัจจุบันสถิติการอ่านหนังสือของเด็กในมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กได้ บทความนี้จึงจะมาแจกวิธีสร้างนิสัยรักการอ่านที่สามารถเริ่มได้ตั้งแต่วัยเยาว์ จะมีอะไรบ้าง มาดูกัน!
Content Highlight
- นิสัยรักการอ่านช่วยให้เด็กได้คลังคำศัพท์ใหม่ ๆ จากหนังสือ ฝึกสมาธิ รวมถึงรู้สึกผ่อนคลาย เพราะได้จมดิ่งไปกับเนื้อหาในหนังสือ
- สำหรับเด็กอายุ 1 – 2 ขวบ ควรเลือกหนังสือภาพที่มีเนื้อหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เขาได้ลองอ่าน ส่วนเด็กอายุ 3 – 4 ปี เหมาะกับการอ่านหนังสือนิทาน
- คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกลูกด้วยการจัดสรรเวลาอ่านหนังสือที่ชัดเจน เช่น อ่านทุกวันก่อนเข้านอน ประมาณ 10 – 15 นาที เป็นต้น
นิสัยรักการอ่าน มีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กอย่างไรบ้าง
นิสัยรักการอ่าน หมายถึง การอ่านหนังสือจนเคยชินและติดเป็นนิสัย หลายคนก็มีงานอดิเรกเป็นการอ่านหนังสือประเภทต่าง ๆ เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ รวมถึงได้รับความเพลิดเพลินขณะอ่านหนังสือด้วย แต่รู้หรือไม่ว่านิสัยรักการอ่านนั้น เป็นนิสัยที่ควรปลูกฝังให้กับเด็กมากที่สุด ด้วยเหตุผลดังนี้
- เสริมทักษะการอ่านออกเสียงจากศัพท์ต่าง ๆ ในหนังสือ
- ได้เรียนรู้ศัพท์ใหม่ ๆ จากหนังสือ สามารถจดจำศัพท์และนำไปประยุกต์ในการเขียน รวมถึงยิ่งมีคลังศัพท์ในหัวเยอะ จะช่วยให้เข้าใจเนื้อหายาก ๆ ได้ดียิ่งขึ้นด้วย
- ช่วยฝึกสมาธิได้เป็นอย่างดี เพราะการอ่านหนังสือต้องจดจ่อกับเนื้อหา เพื่อให้เข้าใจว่าหนังสือต้องการจะสื่ออะไร
- การอ่านหนังสือช่วยให้ผ่อนคลายจากความเครียดได้ เพราะพออ่านหนังสือแล้วเราจะรู้สึกดำดึ่งไปกับเนื้อหา มีความสุขและสุขภาพจิตดีขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการพักสายตาจากจอโทรศัพท์ได้ด้วย
นิสัยรักการอ่านช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นได้ ผ่านการพูดคุยกับคนที่สนใจหนังสือประเภทเดียวกัน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มีต่อเนื้อหาหรือนักเขียนซึ่งกันและกัน

วิธีเลือกหนังสือให้เหมาะกับเด็กแต่ละวัย
ก่อนจะไปดูวิธีการสร้างนิสัยรักการอ่าน มาดูกันก่อนว่า ถ้าพ่อแม่อยากฝึกทักษะการอ่านหนังสือให้กับลูก ควรเลือกหนังสือแบบไหนให้เหมาะกับช่วงวัยของลูก เพราะหนังสือที่อ่านควรสอดคล้องกับพัฒนาการของเขาด้วย
เด็กแรกเกิดจนถึง 6 เดือน
สำหรับเด็กในช่วงวัยนี้จะเริ่มมีพัฒนาการด้านการมองเห็นและใช้มือหยิบจับสิ่งต่าง ๆ อาจเลือกซื้อหนังสือที่มีสีสันสดใส มีรูปภาพขนาดใหญ่ เพื่อให้เขาจดจำได้อย่างรวดเร็ว หรือจะเป็นหนังสือผ้าให้พวกเขาได้สัมผัสก็ได้เช่นกัน
ช่วงอายุ 1 – 2 ขวบ
ควรเริ่มฝึกนิสัยรักการอ่านด้วยหนังสือภาพที่มีตัวอักษรและคำศัพท์เล็ก ๆ น้อย ๆ หรือสอดแทรกเนื้อหาความรู้รอบตัว เช่น สัตว์ สี รูปร่าง รูปทรง เป็นต้น
ช่วงอายุ 3 – 4 ปี
สำหรับเด็กในวัยนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถอ่านนิทาน ให้พวกเขาฟังได้เลย เพราะเด็กจะเริ่มมีความสนใจกับเนื้อหาสนุก ๆ และจะจดจ่อกับเรื่องราวได้เป็นอย่างดี

7 วิธีฝึกนิสัยรักการอ่าน เปลี่ยนมุมมองให้การอ่านหนังสือไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ
1. สร้างมุมสำหรับอ่านหนังสือโดยเฉพาะ
หลายครั้งที่เด็กไม่มีสมาธิในการอ่านหนังสือ เพราะสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ไหนจะแสงน้อยหรือเสียงดังรวบกวนตลอดเวลา เพราะการอ่านหนังสือเหมือนการหลบหนีจากโลกภายนอกของเด็ก ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างบรรยากาศด้วยการสร้างมุมอ่านหนังสือ ที่มีเบาะและหมอนนุ่ม ๆ ให้พิง มีแสงธรรมชาติหรือแสงจากโคมไฟที่สบายตา จะช่วยให้พวกเขาจดจ่อกับเนื้อหาได้ดี และอาจกลายเป็นมุมโปรดของบ้านไปเลยก็ได้
2. จัดสรรเวลาอ่านหนังสือ
คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกนิสัยรักการอ่านให้ลูกด้วยการแบ่งเวลาที่ชัดเจน เช่น อ่านนิทานร่วมกับลูกเป็นประจำก่อนเข้านอน หรืออ่านหลังการกินข้าวเที่ยงเสร็จ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เวลานาน แค่ 10 – 30 นาทีต่อวันก็เพียงพอแล้ว
3. เริ่มจากการหนังสือหมวดหมู่ที่ลูกชอบ
การให้ลูกเริ่มอ่านหนังสือที่ตนเองชอบ จะช่วยให้เขาสนุกกับการอ่านหนังสือได้ง่ายขึ้น ถ้าลูกเป็นคนชอบสัตว์ ก็อาจเอานิทานที่มีตัวละครเป็นสัตว์ หรือหนังสือภาพเกี่ยวกับสัตว์ มาอ่านให้ลูกฟัง ซึ่งพ่อแม่จะสอดแทรกความรู้ที่นอกเหนือจากหนังสือไปให้ลูกด้วยก็ได้
4. มีปฏิสัมพันธ์กับลูกระหว่างอ่านหนังสือ
ระหว่างที่ลูกกำลังอ่านหนังสือ พ่อแม่ควรหยุดเล่นโทรศัพท์ ปิดทีวี แล้วไปมีส่วนร่วมกับลูกด้วยการอ่านไปพร้อมกัน เพราะอาจทำให้ลูกเลียนแบบพฤติกรรมและไม่ตั้งใจกับการอ่านหนังสือได้ อย่าลืมตั้งคำถามให้ลูกรู้จักคิดและโต้ตอบ จะได้เป็นการทบทวนเรื่องราวที่อ่านไปด้วย

5. ตั้งเป้าหมายการอ่านให้กับลูก
เป็นวิธีสร้างนิสัยรักการอ่านด้วยการตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับลูก เช่น ใน 1 สัปดาห์ต้องอ่านหนังสืออย่างน้อย 2 เล่ม ของรางวัลอาจจะเป็นของเล่นที่เขาชอบ โดยมีข้อแม้เพิ่มเติมว่าลูกจะต้องสรุปเนื้อหาให้พ่อแม่ฟัง เพื่อพิสูจน์ว่าตั้งใจอ่านหนังสือจริง ๆ เป็นต้น
6. สร้างโอกาสในการอ่านในทุกสถานที่
การอ่านไม่ได้จำกัดอยู่แค่หนังสือเป็นเล่ม ๆ เท่านั้น เวลาที่คุณพ่อคุณแม่พาลูกออกไปข้างนอก ลองให้เขาอ่านป้าย โปสเตอร์ หรือใบเมนูอาหาร เพื่อให้คุ้นเคยกับคำศัพท์ในชีวิตประจำวัน
7. พาลูกไปห้องสมุดเพื่อเปิดโลกแห่งหนังสือ
เพื่อให้ลูกได้สัมผัสสภาพแวดล้อมที่รายล้อมไปด้วยหนังสือ ลองพาลูกของคุณไปที่ห้องสมุดในท้องถิ่นดู เพราะห้องสมุดจะมีโซนหนังสือสำหรับเด็ก ที่มีเนื้อหาสนุก ๆ หลากหลายแบบให้เขาได้อ่าน และความเงียบในห้องสมุดก็ช่วยฝึกเขาให้มีสมาธิกับการอ่านหนังสือด้วย
สรุป
นิสัยรักการอ่าน คือทักษะที่ควรปลูกฝังตั้งแต่เด็ก เพราะช่วยเสริมทักษะการพูด อ่าน เขียน เวลาที่ไปเรียนก็จะไม่รู้สึกติดขัดกับเนื้อหาและเข้าใจสิ่งที่ครูสอนได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ การอ่านหนังสือยังช่วยให้เด็กไม่ติดโทรศัพท์ เพราะสมัยนี้นั้นมีแต่สิ่งล่อตาล่อใจที่ทำให้เด็กรักการอ่านน้อยลงเรื่อย ๆ คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก ด้วยการอ่านเป็นเพื่อนลูกและยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวอีกด้วย