พ่อแม่ควรสอนลูกให้มีความเคารพและรู้จักแบ่งปันของให้ผู้อื่น
June 16, 2025

10 มารยาทพื้นฐานที่ควรสอนลูกตั้งแต่วัยอนุบาล ให้เด็กเติบโตเป็นคนอ่อนน้อม ใครก็เอ็นดู

สิ่งที่สำคัญที่เด็กทุกคนต้องมีติดตัวเมื่อต้องเข้าสังคมใหม่ ๆ ไม่ใช่แค่ความกล้าแสดงออก แต่ต้องมีมารยาทพื้นฐานสำหรับเด็กด้วย เพราะมารยาทเป็นทักษะทางสังคมพื้นฐานที่ทุกคนควรมี เมื่อลูกของคุณเติบโตขึ้น ไปไหนมาไหนก็จะมีแต่ผู้ใหญ่เอ็นดูและชื่นชมว่าถูกคุณพ่อคุณแม่สอนมาอย่างดี เพราะลูกของเราอาจทำตัวไม่น่ารักต่อคนอื่นได้ ดังนั้น การสอนมารยาทเด็กเล็กให้ลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็เป็นเรื่องที่ดี บทความนี้จะมาบอกวิธีปลูกฝังมารยาทเด็กให้ใช้ได้ในชีวิตจริง สามารถซึบซับและปรับใช้ได้จนโต

Content Highlight

  • การสอนมารยาทพื้นฐานสำหรับเด็กให้กับลูก จะช่วยให้เขาสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมได้อย่างมีความสุข ไม่ว่าจะไปอยู่ไหนก็มีแต่คนเอ็นดู
  • ขณะที่สนทนากับผู้ใหญ่ อย่าลืมสอนให้ลูกมีความนอบน้อมด้วยการไหว้ผู้ใหญ่ทุกครั้ง และพูดลงท้ายประโยคอย่างมีหางเสียง “ครับ/ค่ะ”
  • เวลาที่ลูกออกไปนอกบ้าน ไม่ว่าจะไปเที่ยวหรือรับประทานอาหารข้างนอก ควรรักษามารยาทในที่สาธารณะ เช่น มารยาทบนโต๊ะอาหาร ไม่แทรกคิว หรือส่งเสียงดังรบกวนคนรอบข้าง
การปลูกฝังมารยาทพื้นฐานสำหรับเด็กให้ลูก ช่วยให้เขาสามารถเข้าสังคมได้เป็นอย่างดี

มารยาทพื้นฐานสำหรับเด็ก 10 ข้อ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังให้กับลูกน้อย

การปลูกฝังมารยาทเป็นการพัฒนาทักษะสังคมให้กับเด็ก ช่วยให้ลูกสามารถเติบโตและใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนในสังคมได้อย่างราบรื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรสอนตั้งแต่ที่บ้าน รวมถึงต้องคอยแนะนำพวกเขาเรื่อย ๆ ในสถานการณ์ต่าง ๆ เพราะบางครั้งเด็กอาจไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ทำอยู่คือการเสียมารยาท ว่าแล้วมาดูกันเลยดีกว่าว่ามารยาทพื้นฐานสำหรับเด็กเล็ก นั้นมีอะไรบ้างและควรสอนเขาอย่างไร

1. ลงท้ายด้วยครับ/ค่ะ ทุกครั้ง

การพูดครับ/ค่ะ ลงท้ายประโยคช่วยเพิ่มความน่ารักน่าเอ็นดูให้กับลูกของคุณได้เป็นอย่างมาก ควรสอนลูกให้พูดแบบมีหางเสียงทุกครั้งเวลาที่สนทนากับผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น “สวัสดีครับ/ค่ะ” “ขอบคุณครับ/ค่ะ” หรือ “ขอโทษครับ/ค่ะ” ซึ่งการพูดขอโทษในสถานการณ์ที่ตนผิดเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ รวมถึงการกล่าวขอบคุณเมื่อผู้ใหญ่ให้ของขวัญ ให้การช่วยเหลือ หรืออะไรก็ตาม จะทำให้เด็กดูเป็นคนสุภาพอ่อนน้อม ถ้าคุณพ่อคุณแม่สอนลูกให้พูดเป็นประจำ นิสัยพูดจาไพเราะนี้ก็จะติดตัวเขาไปจนโต

2. มีกาลเทศะกับผู้ใหญ่

นอกเหนือจากการพูดอย่างมีหางเสียงและรู้จักพูดขอบคุณ-ขอโทษแล้ว การกระทำของเด็กก็ควรสุภาพเรียบร้อย และมีกาลเทศะกับผู้ใหญ่ด้วย เช่น ไม่พูดแทรกขณะที่ผู้ใหญ่กำลังพูด เวลาไปเที่ยวบ้านใครก็ไม่ทำข้าวของเสียหาย และควรแสดงความเคารพ รู้จักทักทายและบอกลาผู้ใหญ่ด้วยการพนมมือไหว้ทุกครั้ง ดังสำนวนไทยที่ว่า “ไปลามาไหว้” นั่นเอง

3. ไม่พูดคำหยาบ

ยุคปัจจุบันที่เด็กเข้าถึงโซเชียลมีเดียได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ทำให้เด็กสามารถเข้าถึงคอนเทนต์และสื่อต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจคัดกรองสื่อไม่ทัน ดังนั้น ควรสอนเขาตั้งแต่แรกว่า การพูดคำหยาบตั้งแต่เด็กนั้นเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม อธิบายให้เขาเข้าใจจนเห็นภาพว่ามันไม่ดีอย่างไร

พ่อแม่ควรสอนลูกให้มีความเคารพและรู้จักแบ่งปันของให้ผู้อื่น

4. สอนลูกให้มีความเคารพและรู้จักแบ่งปันของให้เพื่อน

ควรสอนลูกให้มีความเคารพและให้เกียรติผู้อื่น เพราะเขาไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวในสังคม เวลาที่ไปโรงเรียนต้องพบเจอกับผู้คนมากมาย ทั้งคุณครู เพื่อนร่วมห้อง เจ้าหน้าที่ ผู้ปกครองของเพื่อน และอีกมากมาย รวมถึงความมีน้ำใจ รู้จักแบ่งปันกับเพื่อนเวลาแบ่งขนมหรือเล่นของเล่น ไม่สอนให้เป็นคนขี้งกหรือขี้อิจฉา เพราะเป็นนิสัยที่จะติดตัวไปจนโต และเมื่อโตขึ้นก็แก้ไขได้ยากอีกด้วย

5. ไม่ตะโกนโวยวาย หรือเสียงดังในที่สาธารณะ

ควรสอนลูกให้รู้จักการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสถานที่สาธารณะด้วยการไม่ส่งเสียงดัง โดยเฉพาะออกไปกินข้าวนอกบ้าน คงไม่มีใครอยากได้ยินเสียงเด็กรบกวน ขณะที่กำลังรับประทานอาหาร หรือบางครั้งเวลาพาลูกออกไปห้างสรรพสินค้า อาจจะมีของเล่นหรือตุ๊กตาที่เขาอยากได้ และแสดงออกด้วยการกรี๊ดหรือโวยวาย ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความน่ารำคาญให้กับคนรอบข้างได้ ควรสอนลูกให้ใจเย็นและค่อย ๆ พูดคุยต่อรองกันจะดีกว่า

6. เก็บของให้เป็นระเบียบ

มารยาทพื้นฐานสำหรับเด็กเวลาหยิบของเล่นออกมาเล่น หรือหยิบของใช้ในบ้านต่าง ๆ ควรสอนให้รู้จักเก็บของเข้าที่เก็บของและจัดให้เป็นระเบียบเหมือนเดิม เพราะเป็นมารยาทที่จำเป็นอย่างมากเวลาไปโรงเรียน หลังเล่นเกมกับเพื่อน ๆ จะได้ช่วยกันเก็บกวาดห้องเรียนให้สะอาด เป็นการแบ่งเบาภาระให้คุณครูได้ด้วย

7. เข้าคิวให้เป็น ไม่แทรกคิวคนอื่น

การต่อคิวไม่ว่าจะร้านอาหารหรือร้านขายของต่าง ๆ การแทรกคิวเป็นมารยาทที่ไม่ควรทำอย่างมาก ไม่ควรปล่อยให้ลูกไปแย่งคิวคนอื่น แม้ผู้ใหญ่บางคนจะไม่ได้ถือสาอะไรเพราะเป็นเด็ก แต่นิสัยนี้อาจติดตัวลูกไปจนโต ถึงเวลานั้นแล้วจะทำให้ดูไม่น่ารักและนิสัยไม่ดีได้ ดังนั้น ควรบอกให้ลูกรอตามคิวของตัวเอง อยู่นิ่ง ๆ ไม่โวยวายหรือทำตัวน่ารำคาญขณะที่อยู่ในคิว

ผู้ปกครองควรสอนมารยาทเด็กเล็กว่าอย่าแย่งของจากมือผู้อื่น

8. ไม่แย่งสิ่งของจากผู้อื่น

ถ้าคุณเคยเห็นสถานการณ์ที่เด็กเอาแต่ใจและไปแย่งสิ่งของของคนอื่นมาโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต คงเป็นภาพที่ไม่น่ารักน่าดู จึงควรสอนมารยาทเด็กเล็กว่าอย่าแย่งของจากมือผู้อื่น หรือขโมยของโดยเด็ดขาด อีกทั้ง ไม่ควรไปขอสิ่งของต่าง ๆ ที่ตนอยากได้จากคนแปลกหน้าหรือญาติผู้ใหญ่ เพราะเป็นพฤติกรรมที่ดูไม่เหมาะสม อาจทำให้คนรอบข้างมองลูกของคุณไม่ดีได้

9. มีมารยาทบนโต๊ะอาหาร

การรับประทานอาหาร ไม่ว่าจะในบ้านหรือนอกบ้าน ควรสอนให้ลูกใช้อุปกรณ์ช้อนส้อมอย่างเหมาะสม ไม่เคาะจาน พูดจาเสียงดังขณะกินข้าว หรือวิ่งเล่นไปทั่วร้านอาหาร จนสร้างความรบกวนให้กับพนักงานได้ เพราะร้านอาหารไม่ใช่สนามเด็กเล่น คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกมีสมาธิ รู้จักอยู่นิ่ง ๆ บนเก้าอี้ จะช่วยลดความน่ารำคาญในสายตาของผู้อื่นได้

10. ไม่เล่นแรง ๆ หรือพูดจาทำร้ายจิตใจคนอื่น

มารยาทพื้นฐานสำหรับเด็กข้อสุดท้าย การไม่พูดจาทำร้ายจิตใจคนอื่น เพราะคำพูดจาแรง ๆ อาจเป็นปมของใครสักคนไปตลอดชีวิต ควรสอนให้ลูกรู้จักคิดก่อนพูด รวมถึงเวลาเล่นกีฬาหรือเล่นกับเพื่อนในห้อง ไม่ควรใช้กำลังรุนแรงเกินไป นอกจากจะทำให้บาดเจ็บแล้ว ยังทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับเพื่อนร่วมห้องด้วย

สรุป

เวลาที่เราเห็นคนรอบตัวมีมารยาท กาลเทศะ และสุภาพเรียบร้อยนั้น ส่วนใหญ่มาจากการสั่งสอนและปลูกฝังที่ดีตั้งแต่ยังเด็ก ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกด้วย เขาจะได้เรียนรู้และมีพฤติกรรมเลียนแบบตาม เชื่อว่าพ่อแม่คนไหนก็อยากให้คนรอบข้างหรือญาติผู้ใหญ่เอ็นดูลูกของตนเอง ดังนั้น การสอนมารยาทเด็กเล็กให้ลูกจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ แถมช่วยให้ลูกสามารถเข้าสังคมและอยู่ร่วมกับเพื่อน ๆ ได้อย่างมีความสุขอีกด้วย